(บทความที่ 10)
รู้อยู่แล้วว่าผู้ออกเช็คไม่มีความสามารถชำระหนี้ตามเช็คได้
“เช็ค” ประวัติของเช็คในประเทศอังกฤษเขียนว่า “cheque” แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะเขียน ว่า “check” แต่เดิมเช็คเป็นต้นขั้วของใบเก็บเงินหรือใบรับเงินภาษีอากร (exchequer bill) ซึ่งจะบันทึกรายการของปลายขั้วไว้เพื่อการตรวจสอบ (check) การแก้ไขหรือการปลอมแปลงที่อาจเกิดขึ้น ต้นขั้วนี้ธนาคารเก็บไว้ ส่วนปลายขั้วแต่เดิมเรียกว่า drawn note หรือ draft ในปัจจุบันยังใช้ เป็นคําสั่งของธนาคารให้จ่ายเงินในระหว่างธนาคารด้วยกัน ตั้งแต่คริสต์วรรษที่ 19 คําว่า “เช็ค” ได้ เข้าแทนคําว่า “ดราฟท์” ในความหมายที่เป็นคําสั่งของผู้ที่มีเงินในธนาคารให้ธนาคารจ่ายเงินแก่ผู้ที่ ระบุชื่อในคําสั่งนั้น และได้ใช้คําว่า “เช็ค” แทนคําว่า “ดราฟท์” ไปในที่สุด การปฏิบัติของธนาคารแต่เดิมนั้น จะออกเอกสารที่เรียกว่า บัตรธนาคาร (banker,s note) หรือ “แบงค์โน๊ต” (bank note) ให้เป็นหลักฐานแทนเงินฝากซึ่งใช้เปลี่ยนมือได้เสมือนเป็นเงินสด แต่ต่อมาธนาคารไม่ออกบัตรของธนาคารเอง แต่เปลี่ยนวิธีการมาเป็นการให้ลูกค้าที่มีเงินฝากใน ธนาคารออกคําสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินนั้นให้แก่ผู้ถือคําสั่งที่ลูกค้าต้องการให้ได้รับเงินอันเป็นเอกสารที่ชื่อว่า “เช็ค” ในที่สุด
เมื่อเป็นหนี้(หนี้เงิน) ต้องมีหน้าที่ชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ การชำระหนี้อาจกระทำกันได้หลายวิธี อาทิเช่น ชำระเป็นเงินสด โอนผ่านบัญชีธนาคาร หรือชำระผ่านโดยการสั่งจ่ายเช็ค เมื่อชำระหนี้ครบถ้วน ทุกคนล้วนสบายใจ เป็นการรักษาและถนอมน้ำใจไว้มีโอกาสค่อยยืม(เงิน)กันใหม่ในภายหน้า แต่วันใดวันหนึ่ง ลูกหนี้อาจเพลี่ยงพล้ำขึ้นมา ยังไม่มีเงินมาชำระให้ได้ เจ้าหนี้ก็อย่าใช้วิธีการให้ลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คไว้เป็นการชำระหนี้ เผื่อไว้ว่าหากลูกหนี้ผิดนัดตามเช็คอีกครั้งโดยมุ่งหวังเอาความอาญามาบังคับลูกหนี้เชียวนะ เพราะการที่ให้ลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ให้กับตนโดยที่รู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้ไม่สามารชำระหนี้ตามเช็คได้ ไม้ตายของเจ้าหนี้ที่หวังเอาคดีอาญามาบังคับ ผับเสื่อม้วนกลับบ้านได้เลย เพราะลงเอยว่าการกระทำของลูกหนี้ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333/2529 จำเลยออกเช็คให้แก่โจทก์โดยในขณะออกเช็คนั้นโจทก์ทราบถึงฐานะทางการเงินของจำเลยดีว่าไม่มีความสามารถชำระหนี้ตามเช็คได้ การออกเช็คของจำเลยจึงมีลักษณะเพื่อประกันหนี้ทางแพ่งที่จำเลยต้องรับผิดแก่โจทก์เท่านั้นไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1213/2545 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ร่วมมานานหลายปี แต่ไม่สามารถชำระเงินคืนให้โจทก์ร่วมได้ต้องออกเช็คใหม่มอบให้โจทก์ร่วมโดยบวกดอกเบี้ยเพิ่มและรับเช็คเดิมคืนมาหลายครั้งครั้งหลังสุดธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ร่วมและจำเลยจึงทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมหนี้กันที่สถานีตำรวจ และจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์ร่วมเพื่อชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว อันเป็นการบ่งชัดว่าจำเลยอยู่ในภาวะที่ถูกโจทก์ร่วมบีบบังคับให้ต้องออกเช็คพิพาท ซึ่งโจทก์ร่วมย่อมทราบดีว่าขณะออกเช็คจำเลยไม่มีทางที่จะชำระเงินตามเช็คดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4