(บทความที่ 11)
สามี-ภรรยา ทำร้ายร่างกาย
การทำร้ายร่างกายของกันและกันระหว่างสามีและภรรยา ถือเป็น “ความรุนแรงในครอบครัว” ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 3 หมายความว่า การกระทำใด ๆ โดยมุ่งประสงค์เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพ หรือกระทำโดยเจตนาในลักษณะ ที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว หรือบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทำการ ไม่กระทำการ หรือยอมรับการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด โดยมิชอบ แต่ไม่รวมถึงการกระทำโดยประมาท ส่วน“บุคคลในครอบครัว” หมายความว่า คู่สมรส คู่สมรสเดิม ผู้ที่อยู่กินหรือเคยอยู่กินฉันสามีภรรยา โดยมิได้จดทะเบียนสมรส บุตร บุตรบุญธรรม สมาชิกในครอบครัว รวมทั้งบุคคลใดๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน และในมาตรา 4 ยังบัญญัติว่า ผู้ใดกระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัว ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 4 นั้น เป็นกฎหมายห้ามบุคคลใดใช้ความรุนแรงกับสมาชิกในครอบครัวซึ่งจะมีความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว จำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยความผิดข้อหานี้สามารถยอมความกันได้และมีอายุความ 3 เดือนนับแต่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวอยู่ในวิสัยและมีโอกาสที่จะแจ้งความหรือร้องทุกข์ได้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
แต่หากการกระทำอันเป็นความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย เช่นทำร้ายร่างกาย (มาตรา 295 , 296 , 297) ข่มขืนกระทำชำเรา (มาตรา 276) หน่วงเหนี่ยวกักขัง (มาตรา 310) หมิ่นประมาท (มาตรา 326) ฯลฯ การกระทำดังกล่าวนั้นก็ย่อมเป็นความผิดตามกฎหมายอาญานั้นด้วย แต่ทั้งนี้หากการกระทำความรุนแรงในครอบครัวนั้นเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 แม้กฎหมายอาญามิได้บัญญัติให้เป็นความผิดยอมความได้ แต่เมื่อมีการกระทำอันเป็นความรุนแรงในครอบครัวรวมอยู่ด้วย ก็ให้ถือว่าความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 เท่านั้น เป็นความผิดอันยอมความได้ตามข้อยกเว้น มาตรา 4 วรรคสองตอนท้าย แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550