(บทความที่ 15)
ชักชวนผู้เยาว์ไปใหนมาใหนด้วยกัน ระวังโทษทางอาญา
ในปัจจุบันนั้นผู้เยาว์หรือเยาวชนที่อายุเกิน 15 ปีแล้ว แต่ไม่ถึง 18 ปี ตามกฎหมายได้ให้ความคุ้มครองเพราะเป็นกลุ่มที่มักถูกชักให้ไปกับผู้อื่นผ่านสื่อออนไลน์ หรือหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ได้ เพื่อป้องกันภัยอันตรายที่จะตามมาภายหลังจึงมีการกำหนดบทลงโทษผู้ที่พรากตัวผู้เยาว์อายุเกิน 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปี ไปจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง โดยที่ผู้เยาว์ไม่เต็มใจ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาท ถึง 200,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรค 1
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 นั้น คำว่า "พราก" หมายความว่าการพาไปหรือแยกผู้เยาว์ออกไปจากอำนาจปกครองดูแล โดยไม่จำกัดว่าจะกระทำด้วยวิธีใด ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ถูกรบกวนหรือถูกกระทบ โดยบิดามารดาผู้เยาว์ไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาผู้เยาว์ทั้งนี้ไม่ว่าผู้เยาว์จะไปอยู่ที่ใด หากบิดามารดายังเอาใจใส่ผู้เยาว์ ย่อมอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดาตลอดเวลา การพรากผู้เยาว์ไม่ว่าผู้พรากผู้เยาว์จะเป็นฝ่ายชักชวนโดยมีเจตนามุ่งหมายที่จะกระทำชำเราผู้เยาว์เพียงอย่างเดียว ก็ย่อมเป็นความผิดทั้งสิ้น
ดังตัวอย่างตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4263/2559
ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 ได้ขออนุญาตผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดา ไปเล่นกีฬาวอลเลย์บอลที่สนามวอลเลย์บอลของโรงเรียน ระหว่างนั้นจำเลยได้ชักชวนผู้เสียหายที่ 2 ไปพูดคุยที่บริเวณหน้าห้องน้ำแล้ว จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปในห้องน้ำชายและกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ดังนี้อำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 จึงยังคงอยู่ที่ผู้เสียหายที่ 1 การที่จำเลยชักชวนผู้เสียหายที่ 2 ไปที่บริเวณห้องน้ำแล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือยินยอมจากผู้เสียหายที่ 1 ย่อมทำให้อำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ที่มีต่อผู้เสียหายที่ 2 ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยผู้เสียหายที่ 1 ไม่รู้เห็นยินยอมด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ไม่เกินสืบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา
โดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย เพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม