top of page

(บทความที่ 16)

ทำไปเพราะเหตุจำเป็น  ไม่ต้องรับโทษ

                 

                   บางครั้งคนเราก็กระทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายด้วยเหตุจำเป็น  ซึ่งกฎหมายจะพิจารณาและให้ความคุ้มครองไว้โดยไม่ถือว่าเป็นความผิดอาญา  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 (2) ที่คุ้มครองการกระทำที่จำเป็นของบุคคลที่ทำไปเพื่อให้พ้นจากภยันอันตราย  โดยการที่จะอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นได้นั้น  ต้องเป็นเรื่องการกระทำผิดโดยเจตนา  เช่น สุนัขบ้าไล่กัดนายเอ นายเอจึงไปพังประตูบ้านของนายบีเพื่อหนี เข้าหลบสุนัขบ้าดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้ประตูบ้านนายสองพัง  แม้นายเอจะมีความผิดในฐานทำให้เสียทรัพย์  แต่ก็ไม่มีโทษต้องรับผิด  เพราะเป็นการกระทำเพื่อให้พ้นภยันตราย  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการกระทำดังกล่าวต้องไม่เข้าข่ายเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ  หรือเป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นโดยประมาท  นั่นจะมิใช่เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น
ยกตัวอย่างเปรียบเทียบการอ้างเหตุกระทำความผิดด้วยความจำเป็น  โดยเจตนา - ประมาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8649/2549
                     จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายซึ่งอายุไม่เกิน 15 ปี และจำเลยที่ 1 ไปยังพิพิธภัณฑ์เมืองโบราณบ้านโนนเมืองเพื่อให้จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเรา  แล้วขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายไปส่งบ้านจะถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยมีอาวุธก่อนหรือขณะที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด  และจำเลยที่ 2 กระทำโดยมีเจตนาครบถ้วนตามหลักเกณฑ์องค์ประกอบความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 277 วรรคสาม  ประกอบมาตรา 86 แล้วก็ตาม  แต่เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดดังกล่าวด้วยความจำเป็นเพราะถูกจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดลักษณะคล้ายมีดสปาต้า  ยาวประมาณ 1 ฟุต  จี้ที่คอของผู้เสียหายเลยมาถึงคอของจำเลยที่ 2 จนผู้เสียหายเกิดความกลัวว่าจะถูกทำร้ายจึงร้องบอกจำเลยที่ 2  ให้ขับรถจักรยานยนต์ต่อไปจนถึงที่เกิดเหตุ  ซึ่งเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและจำเลยที่ 2 ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  อีกทั้งไม่ใช่ภยันตรายที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อขึ้นเพราะความผิดของตน  การกระทำของจำเลยที่ 2  จึงเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1  ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายด้วยความจำเป็นพอสมควรแก่เหตุ  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 67 (2) จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7227/2553
                      ผู้ตายชอบเล่นอาวุธปืน  บางครั้งเอากระสุนปืนออกจากลูกโม่แล้วมาจ่อยิงที่ศีรษะตนเองหรือผู้อื่นเพื่อล้อเล่น  ในวันเกิดเหตุก่อนเกิดเหตุผู้ตายก็เอาอาวุธปืนมาเล่นอีก  แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าขณะที่ผู้ตายเอาอาวุธปืนมาจ่อที่ศีรษะตนเองแล้วจำเลยเข้าแย่งเป็นเหตุให้ปืนลั่นนั้น  ผู้ตายจะยิงตนเองหรือผู้ตายเมาสุราจนไม่ได้สติแต่อย่างใด  ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้หรือไม่ว่าอาวุธปืนดังกล่าวบรรจุกระสุนปืนหรือไม่  ดังนั้นการที่จำเลยเข้าแย่งอาวุธปืนในสถานการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่  อันเป็นการกระทำโดยประมาท  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 59 วรรคสี่

 

bottom of page