(บทความที่ 2)
เรื่องจริงนำมาเล่า : การออกโฉนดที่ดินระหว่างสมรส ก็ไม่ใช่สินสมรสหรือกองมรดกผู้ตายนะๆๆ
ความว่าภายหลังจากผู้ตายเสียชีวิต จำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สมรสของผู้ตายได้จดทะเบียนการให้ที่ดิน โฉนดที่ดินเลขที่...โดยมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ต่อมาโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ดำเนินการฟ้องร้องจำเลยทั้งสาม ต่อศาลขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการให้ที่ดิน โฉนดที่ดินเลขที่ … เพื่อนำกลับเข้าสู่กองมรดกของผู้ตายและนำมาแบ่งแยกแก่ทายาทต่อไป
ในทางนำสืบได้ความว่าจำเลยที่ 2 กับผู้ตายได้ช่วยกันครอบครองและจับจองที่ดินหลายแปลง แต่ที่ดินพิพาทนั้นจำเลยที่ 2 กับผู้ตายตกลงแบ่งปันกันและครอบครองมาก่อนที่จำเลยที่ 2 กับผู้ตายจดทะเบียนสมรสกัน เมื่อปี พ.ศ. 2523 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนสมรสกับผู้ตาย ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 มีอยู่ก่อนสมรส เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (1) แม้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 หลังจากจำเลยที่ 2 จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายแล้ว ก็ไม่มีผลทำให้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 กลับกลายเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 ได้มาในระหว่างสมรส อันจะเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) ดังนั้น จำเลยที่ 2 จะไปจดทะเบียนยกให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 หรือผู้ใดก็ได้ โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงพิพาทแต่อย่างใด
(*** หมายเหตุ : เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2851/2561)