(บทความที่ 22)
พระภิกษุมรณภาพ ทรัพย์สมบัติใครมีสิทธิได้รับ
หากในระหว่างบวชเป็นพระสงฆ์มีญาติโยมมอบเงินทอง ที่ดิน รถยนต์ให้ใช้ และปรากฎว่าต่อมาภิกษุรูปนั้นเกิดมรณภาพ ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 1623 กำหนดว่า ทรัพย์สมบัติดังกล่าวต้องตกเป็นของวัดที่จำพรรษาอยู่ ดังนั้น ทายาทจะมาร้องขอส่วนแบ่งจากวัดไม่ได้ ยกเว้นแต่ระหว่างท่านยังมีชีวิตอยู่ได้มอบทรัพย์สินเงินทองให้ใคร หรือทำพินัยกรรมเอาไว้ให้บุคคลอื่นได้ เพราะทรัพย์ดังกล่าวเป็นของท่านที่จะมอบให้ใครก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น พระท่านหนึ่งได้ทำพินัยกรรมมอบรถยนต์ให้แก่น้องชายตัวเองเอาไว้ ต่อมาเมื่อพระท่านนั้นมรณภาพ รถยนต์คันดังกล่าวก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของน้องชาย โดยที่วัดไม่มีสิทธิ์ยึดครองเอาไว้ ส่วนทรัพย์สินอื่น ๆ ที่มิได้ทำพินัยกรรมไว้ย่อมตกเป็นของวัด โดยที่ญาติของพระท่านนั้นจะมาเรียกร้องไม่ได้เช่นกัน
ดังตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2741/2541
…….ครั้นปี 2530 พระภิกษุ ส. มรณภาพ และนาย อ. ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุ ส. ตามคำสั่งศาล แต่นายอ. ไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงยื่นฟ้องวัดศรีบุญเรืองและนายอุ่นให้โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ต่อมามีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลพิพากษาตามยอม หลังจากนั้นนายอุ่นได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 บัญญัติว่า ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุถึงแก่มรณภาพ ให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม ปรากฏตามสารบัญจดทะเบียนด้านหลังโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.3 ว่า นาย ผ. จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่พระภิกษุ ส. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2516 และตามสำเนาคำสั่งศาลเอกสารหมาย ล.11 มีข้อความระบุว่าพระภิกษุ ส.จำพรรษาอยู่ที่วัดศรีบุญเรืองตั้งแต่ปี 2519 จนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2530 อันเป็นวันมรณภาพ และที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่พระภิกษุ ส.ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ พระภิกษุ ส.ไม่ได้จำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือทำพินัยกรรมไว้เป็นอย่างอื่นจึงตกเป็น กรรมสิทธิ์ของวัดศรีบุญเรือง นายอุ่นในฐานะผู้จัดการมรดกของพระภิกษุ ส.ชอบที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้ตกเป็นสมบัติของวัดศรีบุญเรืองเสียก่อนตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น……..