top of page

(บทความที่ 23)

 มรดก หนี้

                 

                 มรดกเกิดขึ้นเมื่อบุคคลถึงแก่กรรมและมรดกของบุคคลนั้น  จะตกทอดถึงทายาททั้งทรัพย์สิน  สิทธิ  หน้าที่และความรับผิด โดยทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่และความรับผิดที่เกิดขึ้นพร้อมกันหรือเนื่องจากความตายของเจ้ามรดก  โดยทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายที่มีอยู่ก่อนถึงแก่ความตาย  รวมถึงสิทธิผูกพันในสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์  สิทธิและหน้าที่ เช่น หน้าที่ในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ และความรับผิดต่างๆ  เรียกว่า กองมรดกของผู้ตาย  
                แม้ว่าเจ้ามรดกจะเสียชีวิตไปแล้ว  แต่หน้าที่ในการชำระหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้จะยังคงอยู่  และเป็นส่วนหนึ่งของกองมรดก  แล้วทายาทจะต้องชำระหนี้หรือไม่  และต้องทำอย่างไร  
                กรณีที่ผู้ตายมีหนี้สินในจำนวนที่มากกว่าทรัพย์มรดก หรือมีแต่หนี้สิน  ไม่มีทรัพย์สินใดๆ ตกทอดแก่ทายาทเลย ทายาทไม่ต้องรับผิดชอบชำระหนี้สินเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ทายาทได้รับ หรือกรณีที่ผู้ตายมีแต่หนี้สิน  และไม่มีทรัพย์มรดกเลย ทายาทก็ไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้สินนั้น  แต่ถ้าหากกรณีมีทรัพย์มรดกเกินกว่าหนี้สิน ทายาทต้องชดใช้หนี้สินที่มีทั้งหมดก่อน  จากนั้นจึงค่อยนำมรดกมาแบ่งกัน  ดังนั้นหนี้สินถือเป็นมรดกของผู้ตาย  เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้กับทายาทได้เพียงเท่ากับมรดกที่ได้รับเท่านั้น  หากมีหนี้มากกว่านั้น  ทายาทก็ไม่ต้องชำระ  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 ระบุว่า “ทายาทไม่จำเป็นต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดให้แก่ตน” 
                 ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8489/2559
                 โจทก์ฟ้องบรรยายว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นทายาทโดยธรรมผู้รับมรดกของ ร. ผู้ตาย ให้รับผิดชดใช้เงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยในกรณีที่ผู้ตายกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน จึงเท่ากับว่าโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องเอากับกองมรดกของผู้ตายซึ่งได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย  หาใช่ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะส่วนตัวไม่  ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601  การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงผ่อนชำระหนี้เงินให้โจทก์เป็นรายเดือนก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากฟ้องของโจทก์ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเอากับกองมรดก แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3มิได้ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความว่ากระทำการในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายก็ตาม  ก็หาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวแต่อย่างใดไม่  ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ย่อมเป็นไปตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้นกล่าวคือไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน  เมื่อมีเหตุที่จะบังคับคดีเอากับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ  ก็จำต้องบังคับคดีเอากับทรัพย์สินจากกองมรดกของผู้ตายเท่านั้น  เมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินสินส่วนตัวของผู้ร้องที่ 1 ซึ่งมิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย  จึงเป็นการยึดที่ไม่ชอบ

bottom of page