top of page

(บทความที่ 26)

การรับบุตรบุญธรรมให้เกิดสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย

                 

                  การรับบุตรบุญธรรม  หมายถึง  การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งไปรับบุคคลหนึ่งมาอุปการะเลี้ยงดูเหมือนบุตรของตนเอง โดยบุคคลนั้นไม่ใช่บุตรโดยกำเนิดของตน  ซึ่งผู้รับบุตรบุญธรรมกับผู้ที่จะมาเป็นบุตรบุญธรรมจะมีความเกี่ยวพันกันในทางเครือญาติหรือไม่ก็ได้  คืออาจไม่ใช่ญาติสืบสายโลหิต  และผู้ที่จะมาเป็นบุตรบุญธรรมอาจจะเป็นผู้เยาว์หรือบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว  หรืออาจไม่ได้มีสัญชาติเดียวกันกับผู้รับบุตรบุญธรรมก็ได้  อย่างไรก็ตามการรับบุตรบุญธรรมดังกล่าวจักต้องดำเนินการจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย  มิฉะนั้นแล้วย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมแต่อย่างใด
                 หากเราต้องการรับบุตรบุญธรรมก็ควรจะทำให้ถูกต้องตามกฎหมายและสมบูรณ์  โดยจะต้องไปจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรม  เช่น การมีสิทธิรับมรดก ซึ่งหากไม่มีการจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมจะทำให้บุตรบุญธรรมผู้นั้นไม่ได้รับสิทธิและหน้าที่จากผู้รับบุตรบุญธรรมเลย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/27 อย่างไรก็ตาม ผู้รับบุตรบุญธรรมจะไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/29  ตัวอย่างเช่น เจ้ามรดกที่ตายไปได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายไว้ตั้งแต่ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่บุตรบุญธรรมจึงมีสิทธิได้รับมรดกในสถานะเดียวกับผู้สืบสันดาน (ลูก หลาน เหลน) บิดามารดา และคู่สมรสของเจ้ามรดก  ในทางกลับกันพ่อหรือแม่รับบุตรบุญธรรมจะไม่มีสิทธิรับมรดกจากบุตรบุญธรรม  เพราะหากให้สิทธิดังกล่าวอาจเกิดการรับบุตรบุญธรรมเพื่อหวังผลประโยชน์ทางมรดกก็ได้

bottom of page