(บทความที่ 5)
ตอกบัตรแทนกัน นายจ้างเลิกจ้างได้
เบื้องต้นขอทำความเข้าใจก่อนครับว่าตอกบัตรแทนกันหรือการลงเวลาปฎิบัติงาน ที่นายจ้างจะนำมาเป็นเหตุเลิกจ้างได้ จะต้องเป็นกรณีที่ลูกจ้าง "ไม่ได้อยู่ทำงานจริง" แต่ให้บุคคลอื่นตอกบัตรแทน หรือลงเวลาในการปฎิบัติงานแทน ซึ่งกรณีดังกล่าวถือเป็นการลงเวลาทำงานเป็นเท็จ เป็นการทุจริต เพราะนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้าง แต่ลูกจ้างไม่ทำงานตอบแทน จึงเป็นการประพฤติชั่ว หรือโกง กรณีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นโดยไม่ได้ทำล่วงเวลาแต่ให้เพื่อนที่ทำลงแทน หรือแอบกลับก่อนเวลาเลิกงาน จึงเป็นการทุจริตต่อนายจ้าง (ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1507/2506 , 1497/2524)
ในทางกลับกัน ถ้าลูกจ้างอยู่ทำงาน แต่มีงานด่วน หรือซื้อหมูปิ้งอยู่หน้าสถานประกอบกิจการ หรือต้องต่อแถวตอกบัตร แต่แถวยาวมาก จึงได้ขอให้เพื่อนร่วมงาน หรือบุคคลอื่นช่วยตอกบัตรลงเวลาให้ กรณีนี้แม้จะผิดระเบียบแต่ไม่ใช่กรณีร้ายแรง (ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5450/2534) เพราะไม่ถือว่าลูกจ้างทุจริต กล่าวคือ ลูกจ้างมาทำงานแล้ว
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นลูกจ้างก็มีความผิดฐานฝ่าฝืนระเบียบของนายจ้าง เช่นนี้นายจ้างจะนำเอามาเป็นเหตุเลิกจ้างไม่ได้ หากนายจ้างเลิกจ้างก็อาจต้องจ่ายค่าชดเชย หรือศาลอาจพิพากษาให้รับกลับเข้าทำงาน เพราะเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม