top of page

(บทความที่ 8)
การร้องทุกข์

                    “ในปากประตูมีกะดิ่งอันณึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปก กลางบ้านกลางเมือง มีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจ มักจักกล่าว เถิงเจ้าเถิงขุนบ่ไว้ ไปลั่นกะดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยิน เรียกเมือถาม สวนความแก่มันด้วยซื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึ่งชม”  ข้อความดังกล่าวนี้ปรากกฎอยู่ในจารึกพ่อขุนรามคำแหงด้านที่ 1 ช่วงท้ายสุดต่อเนื่องมาจนถึงด้านที่ 2 อีกราวบรรทัดครึ่ง มีความหมายแปลความว่า ที่ปากประตูมีกระดิ่งแขวนเอาไว้  ไพร่คนใดมีเรื่องทุกข์ร้อนก็ไปสั่นกระดิ่งอันนั้นเมื่อเจ้าเมืองคือ พ่อขุนรามคำแหงทรงได้ยินก็จะเสด็จมาดำเนินการพิพากษาความด้วยพระองค์เอง


                    เมื่อโบราณกาลที่ผ่านมาใครทุกข์เนื้อร้อนใจให้ไปสั่นกระดิ่งร้องทุกข์กล่าวโทษ แต่ปัจจุบันหากประชาชนผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดทางอาญา ชาวประชาสามารถไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งการร้องทุกข์ตามกฎหมาย  ผู้เสียหายต้องมีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษด้วยถึงจะเป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 391/2527   ในคดียักยอก ข้อความที่ว่า นำความมาแจ้งเพื่อชะลอการดำเนินคดีไว้ก่อน ถ้าหากจำเลยไม่ชำระเงินจะได้มาแจ้งดำเนินคดีต่อไปอีก จึงนำความมาแจ้งไว้เป็นหลักฐานดังนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย เพราะขณะแจ้งยังไม่ประสงค์จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี ครั้นพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำผิด ผู้เสียหายจึงได้มาแจ้งความให้ดำเนินคดีกับจำเลยคดีโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 758/2523   การที่โจทก์ร่วมไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเรื่องข้าวสารและน้ำตาลทรายที่ถูกจำเลยยักยอกไปโดยระบุว่าเพียงแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการแจ้งในลักษณะของการกล่าวหาโดยมีเจตนาจะให้จำเลยได้รับโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา 2(7) จึงไม่เป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมาย  ฉะนั้นเมื่อข้อหาความผิดฐานยักยอกตามที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอันยอมความได้แต่โจทก์ร่วมมิได้ร้องทุกข์เสียภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความ

bottom of page