การสมัครใจเล่นแชร์และมีการเปียแชร์กันมาแล้วจริง ต่อมาภายหลังท้าวแชร์ไม่สามารถนำเงินมาจ่ายให้แก่ลูกแชร์ที่เปียแชร์ได้ ถือว่าท้าวแชร์ผิดสัญญาทางแพ่งกับลูกแชร์ เพราะตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 “สมาชิกแต่ละคนมีภาระที่จะส่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใด รวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวด ๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไป โดยการประมูลหรือโดยวิธีอื่นใด” ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้สามารถทำได้โดยชัดเจน ดังนั้น จึงถือว่าการเล่นแชร์เป็นการก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ทางกฎหมาย เมื่อท้าวแชร์ไม่สามารถนำเงินส่งให้แก่ลูกแชร์ที่เปียแชร์ได้ หรือที่หลาย ๆ คนมักเรียกว่า “แชร์ล้ม” ก็ตาม กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่ใช่การฉ้อโกงที่ท้าวแชร์จะต้องรับผิดในทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
กรณีศึกษา คำพิพากษาฎีกาที่ 2444/2532
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 91 จำนวน 24 กรรมเรียงกระทงลงโทษให้จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวมจำคุก 4 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โ จทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยกับผู้เสียหายทั้งแปดคนและพวกตกลงเล่นแชร์กันมือละ 100 บาท รวม 90 มือ นางขวัญใจเล่น 30 มือ นางบัวไขและนางลัดดาเล่นคนละ 4 มือ นางนงลักษณ์และนางบัวจันทร์เล่นคนละ 1 มือ นางพรทิพย์ และนางจันทร์เป็ง เล่นคนละ 2 มือ นางละมูลเล่น 6 มือ และจำเลยเล่น 26 มือ โดยจำเลยเป็นหัวหน้าวงแชร์มีหน้าที่จัดให้มีการประมูลสู้ดอกเบี้ยกันและเก็บเงินจากผู้เข้าเล่นมอบให้แก่ผู้ประมูลได้ หากผู้เล่นรายใดไม่ยอมจ่ายเงินค่าแชร์ตามที่ตกลงกัน จำเลยจะต้องรับผิดชอบต่อผู้เล่นซึ่งเป็นผู้ประมูลได้รายถัดไป เริ่มเล่นแชร์กันตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2529 โดยมีการประมูลกันทุกวัน ใน 5 วันแรกจำเลยในฐานะหัวหน้าวงแชร์เป็นผู้เก็บเงินจากผู้เข้าเล่นตามจำนวนมือที่เล่นรับเอาไปโดยไม่มีการประมูล ผู้เล่นทุกคนเริ่มประมูลสู้ดอกเบี้ยกันตั้งแต่วันที่19 มกราคม 2529 เป็นต้นไปทุกวันรวมทั้งจำเลยด้วย จนถึงวันที่ 20 มีนาคม 2529 หลังจากเล่นแชร์กันโดยจำเลยเก็บเงินจากผู้เล่นทั้งหมดไปแล้วรวม 57 มือ แชร์ก็ล้ม มีปัญหาพิจารณาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เสียหายทั้งแปดคนต่างทำการค้าขายอยู่ที่ตลาดต้นโชค ตำบลหนองตอง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ จำเลยกับผู้เสียหายทั้งแปดคนร่วมเล่นแชร์กันโดยจำเลยเป็นหัวหน้าวงแชร์ เล่นแชร์มือละ 100 บาท มีการประมูลแชร์ทุกวัน ผู้ใดให้ดอกเบี้ยสูงเป็นผู้ประมูลได้ผู้เสียหายซึ่งมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ต่างเบิกความรับว่า จำเลยเป็นผู้มารับเงินแชร์จากผู้เสียหายไปทุกวัน ผู้ประมูลแชร์เขียนจำนวนดอกเบี้ยส่งให้จำเลย เมื่อผู้ใดให้ดอกเบี้ยสูงจะเป็นผู้ประมูลได้ ปฏิบัติกันมาเช่นนี้ ตั้งแต่เริ่มเล่นแชร์จนถึงวันที่ 20 มีนาคม 2529 แชร์จึงล้มจำเลยอ้างว่า เก็บเงินจากผู้เล่นแชร์ไม่ได้ ดังนี้ เห็นว่า ความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดที่มีผลเกิดขึ้นต่างหากจากการกระทำ ผลประการหนึ่งคือได้ไปซึ่งทรัพย์สิน การได้ไปซึ่งทรัพย์สินต้องได้ไปโดยการหลอกลวง แต่กรณีนี้เป็นเรื่องจำเลยได้ทรัพย์สินจากผู้เสียหายไปโดยการเล่นแชร์ ซึ่งเล่นกันจำนวน 90 มือ โดยจำเลยเป็นหัวหน้าวง ได้มีการประมูลแชร์และเก็บเงินจากผู้เล่นให้แก่ผู้ประมูลได้ถึง 57 มือแล้ว ต่อมาจำเลยจึงผิดนัด ไม่เก็บเงินจากผู้เล่นแชร์และไม่ทำการประมูลแชร์ต่อไปตามหน้าที่หัวหน้าวงแชร์ อันเป็นการผิดสัญญาในการเล่นแชร์ซึ่งเป็นความผูกพันกันในทางแพ่ง การกระทำของจำเลยหาเป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว"
พิพากษายืน
Comments