top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนทนายเอ็ม

การซื้อขายสินค้าราคา 20,000 บาทขึ้นไป หากไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ฟ้องร้องได้หรือไม่

การซื้อขายกันถือเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตประจำวันเรื่องหนึ่ง เช่น ซื้อขายของออนไลน์ ผ่าน Facebook Line หรือสื่อโซเชียลต่างๆ โดยมีการซื้อขายกันตั้งแต่หลักร้อย ถึง หลักล้านก็มี บางครั้งก็มีปัญหาหลังการซื้อขายก็มีเยอะแยะมากมาย กฎหมายจึงวางหลักเรื่องการซื้อขายที่มีมูลค่าสูงๆ เอาไว้ดังนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสาม การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ 20,000 บาทหรือกว่านั้น หากไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับผิด หรือวางประจำ หรือชำระหนี้บางส่วน จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ และในทางกลับกันหากการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาน้อยกว่า 20,000 บาท แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับผิด หรือวางประจำ หรือชำระหนี้บางส่วน ก็สามารถฟ้องบังคับกันได้ ตามตัวอย่างจากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไปนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7735/2555

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง และวรรคสาม นอกจากจะบัญญัติให้การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไป ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้แล้วยังได้บัญญัติไว้อีกว่า "...หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว... " ก็ย่อมฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เช่นกัน คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในการซื้อขายต้นอ้อยกันนั้นโจทก์และจำเลยไม่ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขาย หรือได้มีหลักฐานการซื้อขายเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายโจทก์หรือจำเลยผู้ต้องรับผิดไว้เป็นสำคัญ แต่ในวันที่ตกลงซื้อขายกัน โจทก์ได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์ต้นอ้อยให้แก่จำเลยและจำเลยเข้าไปตัดต้นอ้อยของโจทก์ไปขายให้แก่โรงงานน้ำตาล อันถือได้ว่าโจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายคือส่งมอบต้นอ้อยให้จำเลยแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับให้จำเลยชำระราคาต้นอ้อยได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4886/2558

จำเลยทั้งสองสั่งซื้อสินค้าและได้รับสินค้าจากโจทก์โดยจำเลยได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว โจทก์ไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือและมีลายมือชื่อของผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 มาแสดงอีก การซื้อขายดังกล่าวจึงฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม จำเลยทั้งสองจึงต้องชำระค่าสินค้าส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2856/2558

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อเม็ดเงิน (แร่เงิน) จากโจทก์จำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการชำระหนี้ดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 1 สั่งซื้อและรับสินค้าจากโจทก์หลายครั้งรวมเป็นเงิน 50,791,081 บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระราคาสินค้าดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ถือได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเพียงพอที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจและต่อสู้คดีได้ถูกต้องแล้ว ส่วนที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าอะไร แต่ละครั้งเป็นจำนวนเท่าไรราคาเท่าไร เมื่อใดและครบกำหนดชำระหนี้เมื่อใด อีกทั้งมิได้แนบเอกสารที่แสดงรายละเอียดมาท้ายคำฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม

สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาเกินกว่าสองหมื่นบาท กรณีต้องด้วย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งบัญญัติให้การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาทหรือกว่านั้นขึ้นไป ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญหรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อซึ่งได้รับมอบสินค้าจากโจทก์ผู้ขายแล้วผิดนัด ขอให้บังคับชำระค่าสินค้า กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายหรือไม่

ดังนั้น หากผู้ซื้อและผู้ขายประสงค์ให้การซื้อขายมีผลทางกฎหมายและสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

1. ทำหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับผิด (ทำสัญญา)

2. วางประจำ (มัดจำ)

3. ชำระหนี้บางส่วน

4. มีหลักฐานใบแจ้งหนี้/ใบวางบิล (ให้ผู้ซื้อเซ็นรับไว้)

ในการดำเนินคดีกันในศาล พยานหลักฐานนับว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการพิจารณาคดีของศาลนั้น ศาลจะพิจารณาจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบกันและที่ปรากฏในสำนวนศาลเท่านั้น ดังนั้นแล้ว การทำสัญญาซื้อขายจึงนับว่าเป็นเรื่องสำคัญมากเลยทีเดียว แม้ถึงว่าจะเป็นคู่ค้าหรือทำมาค้าขายกันมานาน เรื่องเงินก็เป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งไว้ใจกันมากเท่าไหร่ก็ยิ่งอันตรายมากเท่านั้น การทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทำในสิ่งที่กฎหมายให้การรับรองการใช้สิทธิเป็นเรื่องที่ควรทำ เมื่อถึงเวลาจะได้ไม่เสียสิทธิและเสียเปรียบใคร

ดู 15,033 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

PDPA คือ อะไร

PDPA คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกสร้างมาเพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของทุกคน...

การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นกระบวนการชำระหนี้ที่มีสภาพบังคับแก่เจ้าหนี้ทุกรายของลูกหนี้ ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาในการที่เจ้าหนี้แต่รายจะแข...

การยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกนั้น วัตถุที่ยักย้ายหรือปิดบังต้องเป็นทรัพย์มรดกเท่านั้น

ทรัพย์มรดก คือทรัพย์สินทุกอย่างที่เป็นของผู้ตายและทรัพย์มรดกนี้ยังรวมไปถึงสิทธิและหน้าที่ และความรับผิดต่างๆของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะที่ต...

תגובות

דירוג של 0 מתוך 5 כוכבים
אין עדיין דירוגים

הוספת דירוג
bottom of page