top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนทนายเอ็ม

การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นกระบวนการชำระหนี้ที่มีสภาพบังคับแก่เจ้าหนี้ทุกรายของลูกหนี้ ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาในการที่เจ้าหนี้แต่รายจะแข่งขันหรือแย่งกันบังคับชำระหนี้เอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ อันอาจส่งผลให้กิจการของลูกหนี้ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้และอาจทำให้เจ้าหนี้บางส่วนไม่ได้รับชำระหนี้เลย กระบวนการฟื้นฟูกิจการบังคับให้เจ้าหนี้ทั้งหลายของลูกหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้นแล้วเจ้าหนี้รายนั้นก็หมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตามแผน โดยเจ้าหนี้แต่ละรายจะได้รับชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผน ซึ่งผลผูกมัดดังกล่าวจะผูกมัดไปถึงเจ้าหนี้เสียงข้างน้อยที่ลงมติไม่ยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการนั้นด้วย อย่างไรก็ตามการฟื้นฟูกิจการไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยธุรกิจทุกกิจการที่ประสบปัญหาทางด้านการเงินให้กลับฟื้นขึ้นมาได้ทั้งหมด หากกิจการของลูกหนี้เป็นกิจการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความสามารถในการแข่งขันหรือไม่มีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการ กิจการเหล่านั้นก็ต้องเข้าสู่การชำระบัญชีหรือล้มละลายให้เร็วที่สุด เพื่อนำทรัพย์สินของกิจการออกขายนำเงินมาชำระให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายตามประเภทของเจ้าหนี้ให้ได้มากที่สุด


ลูกหนี้ที่มีสิทธิเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ในปัจจุบันมีลูกหนี้ 3 ประเภทที่เข้าสู่การฟื้นฟูกิจการได้ ได้แก่ บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน แต่ลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ เนื่องจากไม่ใช่ประเภทของลูกหนี้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้แม้ว่าจะประกอบธุรกิจ และมีลักษณะครบเงื่อนไขข้ออื่นๆในการเริ่มต้นคดีฟื้นฟูกิจการก็ตาม


บุคคลที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

  1. เจ้าหนี้ซึ่งอาจเป็นคนเดียวหรือหลายคนรวมกันและมีจำนวนหนี้แน่นอนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท

  2. ลูกหนี้ต้องเป็นบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

  3. ธนาคารแห่งประเทศไทย เฉพาะลูกหนี้ที่เป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์

  4. สำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เฉพาะลูกหนี้ที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์

  5. กรมการประกันภัย เฉพาะลูกหนี้ที่เป็นบริษัทประกันวินาศภัยหรือบริษัทประกันชีวิต

  6. หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการของลูกหนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง


แต่ยังมีสาเหตุอยู่ 3 ประการ ที่ลูกหนี้ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ ประการที่หนึ่งเมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายแล้ว กรณีจำต้องดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายต่อไปจนคดีเสร็จสิ้น เมื่อลูกหนี้ประสบปัญหาทางการเงินไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้นอกศาลได้สำเร็จ ทั้งใช้เวลานานเกินไปในการตัดสินใจว่าจะยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการหรือไม่ เจ้าหนี้อาจมีความอดทนน้อยกว่าและเมื่อเจ้าหนี้พิจารณาแล้วว่าลูกหนี้ไม่น่าจะมีโอกาสฟื้นฟูกิจการได้สำเร็จ ดังนั้น เพื่อให้ได้รับชำระหนี้คืนบางส่วนเจ้าหนี้อาจใช้ช่องทางการฟ้องคดีล้มละลายก่อนที่ลูกหนี้จะตัดสินใจยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ ซึ่งหากลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายแล้ว ช่องทางการฟื้นฟูกิจการก็จะหมดลง

ประการที่สอง เมื่อลูกหนี้ไม่มีสภาพความเป็นนิติบุคคลไม่ว่าจะโดยคำสั่งของศาลหรือนายทะเบียน เมื่อลูกหนี้ไม่มีสภาพบุคคลในวันที่ยื่นคำร้องขอ ลูกนี้ก็ไม่สามารถที่จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ และประการที่สาม คือเมื่อการดำเนินกระบวนพิจารณาตามคำร้องขอที่ได้ยื่นไว้มีเหตุทำให้คดีสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยการที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ผู้ร้องขอที่ประสงค์จะยื่นคำขอครั้งใหม่จะต้องรอให้ระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าวผ่านพ้นไปก่อน จึงจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอใหม่


หลักเกณฑ์ในการยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ

  1. ลูกหนี้ต้องมีหนี้สินล้นพ้นตัว

  2. ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท

  3. กรณีมีเหตุอันควรที่ลูกหนี้จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ หมายความว่า เหตุที่ลูกหนี้มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินต้องเกิดจากปัจจัยภายนอกที่ผู้บริหารของลูกหนี้ไม่สามารถควบคุมได้ กรณีตัวอย่างที่ถือเป็นเหตุอันสมควร ได้แก่ลูกหนี้ต้องรับภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นมาจากวิกฤติทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายจากรัฐบาลในการลดค่าเงินบาท หรือลูกหนี้ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ได้รับผลกระทบจากชะลอตัวในภาคธุรกิจ เป็นต้น

  4. มีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้


เมื่อลูกนี้มีลักษณะครบตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ผู้ร้องขอตามที่กฎหมายกำหนดมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ต่อศาลล้มละลาย โดยรายละเอียดของคำร้องเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจะต้องแสดงโดยชัดเจนถึง

  • ความมีหนี้สินล้นพ้นตัวของลูกหนี้ หรือไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้

  • รายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนที่ลูกหนี้เป็นหนี้อยู่รวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท

  • เหตุผลอันสมควรและช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ

  • ชื่อและคุณสมบัติของผู้ทำแผน

  • หนังสือยินยอมของผู้ทำแผน

* ผู้ทำแผนอาจเป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคล คณะบุคคล เจ้าหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้ก็ได้*


ถ้ากรณีถ้าเจ้าหนี้เป็นผู้ร้องขอ จะต้องแนบรายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้อื่นเท่าที่ทราบมาพร้อมคำร้องขอ หรือถ้าลูกหนี้เป็นผู้ร้องขอ จะต้องแนบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่ รายชื่อและที่อยู่โดยชัดแจ้งของเจ้าหนี้ทั้งหลายมาพร้อมคำร้องขอ และเมื่อผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอแล้ว ศาลล้มละลายจะตรวจคำร้องขอว่าจะมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้พิจารณาหรือไม่

ดู 55 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

PDPA คือ อะไร

PDPA คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกสร้างมาเพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของทุกคน...

การยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกนั้น วัตถุที่ยักย้ายหรือปิดบังต้องเป็นทรัพย์มรดกเท่านั้น

ทรัพย์มรดก คือทรัพย์สินทุกอย่างที่เป็นของผู้ตายและทรัพย์มรดกนี้ยังรวมไปถึงสิทธิและหน้าที่ และความรับผิดต่างๆของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะที่ต...

Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
bottom of page