top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนทนายเอ็ม

ขายรถที่รับจำนำ และอยู่ระหว่างสัญญาเช่าซื้อ มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8392/2561

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งฟังได้เป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2555 นางสาวสายชล น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายบุบากาก ผู้เสียหายทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะหมายเลขทะเบียน บน 7368 ตรัง จากบริษัทโตโยต้า ลีสชิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด โดยผู้เสียหายร่วมผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ ครอบครองและใช้สอยรถกระบะดังกล่าวด้วย ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 ซึ่งอยู่ระหว่างผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ต่อพันตำรวจตรีโอภาส พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองตรังว่า เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2559 ผู้เสียหายได้จำนำรถกระบะดังกล่าวไว้แก่จำเลยมีกำหนดไถ่คืน 1 เดือน เมื่อครบกำหนดจำเลยแจ้งว่าได้ขายรถกระบะกระบะดังกล่าวไปแล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า คำเบิกความของผู้เสียหายยืนยันถึงพฤติการณ์แห่งคดีเป็นไป ตามขั้นตอน ตามธรรมชาติของเหตุการณ์ไม่มีข้อพิรุธสงสัย เห็นว่า โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2559 ผู้เสียหายนำรถกระบะดังกล่าวไปจำนำที่เต็นท์รถกระบะของนายบุญเลิศ (ไม่ปรากฏชื่อสกุล) ที่ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง เป็นเงิน 190,000 บาท กำหนดไถ่ถอนภายใน 1 เดือน ตกลงให้ดอกเบี้ย 30,000 บาท โดยหักดอกเบี้ยไว้ก่อนทำให้ผู้เสียหายได้รับเงินไปจากนายบุญเลิศ 160,000 บาท โดยหักดอกเบี้ยไปพบกับจำเลยซึ่งเป็นเพื่อนกันที่ร้านกาแฟในตลาดอำเภอย่านตาขาว ตกลงกันว่าจำเลยรับจะไปไถ่ถอนรถกระบะดังกล่าวจากนายบุญเลิศเป็นเงิน 190,000 บาท แล้วจำเลยจะเป็นผู้รับจำนำแทน หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2559 หลังจากครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 3 วัน ผู้เสียหายกับจำเลยเดินทางไปที่เต็นท์รถของนายบุญเลิศแล้วผู้เสียหายนำเงิน 190,000 บาท ที่จำเลยมอบให้ผู้เสียหายขณะเดินทางมาด้วยกันให้แก่นายบุญเลิศ นายบุญเลิศคืนรถกระบะดังกล่าวให้ผู้เสียหาย ผู้เสียหายขับรถกระบะดังกล่าวตามรถกระบะของจำเลยซึ่งขับรถกระบะเก๋งมาคนเดียวไปจอดห่างเต็นท์รถของนายบุญเลิศประมาณ 500 เมตร แล้วผู้เสียหายมอบรถกระบะดังกล่าวให้แก่จำเลย จากนั้นผู้เสียหายนั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างไปทำกิจธุระต่อ เมื่อครบกำหนด 1 เดือนตามที่ตกลงกันว่าจะไถ่ถอนจำนำ ผู้เสียหายโทรศัพท์แจ้งแก่จำเลยว่ายังไม่มีเงินไถ่ถอนขอผัดผ่อนไป 10 วัน จำเลยยอมให้ผัดผ่อน 5 วัน แต่ผู้เสียหายไม่สามารถรวบรวมเงินได้เมื่อครบกำหนด 5 วัน ผู้เสียหายพยายามติดต่อทางโทรศัพท์กับจำเลยหลายครั้ง แต่ติดต่อไม่ได้ ในช่วงระยะเวลา 7 วัน ผู้เสียหายหาเงินได้ 220,000 บาท เพื่อมอบให้แก่จำเลยเป็นการชำระต้นเงินและดอกเบี้ยด้วยจึงโทรศัพท์ติดต่อจำเลยอีกครั้ง จำเลยบอกผู้เสียหายทำนองว่าขายรถกระบะดังกล่าวไปแล้ว จะหารถกระบะคันอื่นมาใช้แทนให้ นางสาวสายชลเบิกความว่า ในช่วงเดือนเมษายน 2559 พยานได้รับแจ้งจากผู้เสียหายทางโทรศัพท์ว่า ผู้เสียหายนำรถกระบะดังกล่าวไปจำนำไว้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำรถกระบะดังกล่าวไปขายผู้เสียหายและนางสาวสายชลเบิกความตรงไปตรงมา ตรงกับที่ให้การต่อพนักงานสอบสวน อันเป็นการแสดงถึงการยืนยันในข้อเท็จจริงดังกล่าวตลอดมาคำเบิกความของผู้เสียหายจึงมีน้ำหนักมั่นคง ประกอบกับจำเลยเบิกความรับว่าจำเลยขับรถกระบะพาผู้เสียหายไปที่เต็นท์ของนายบุญเลิศในวันที่ผู้เสียหายไถ่ถอนรถกระบะดังกล่าวอันแสดงถึงการที่จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับเรื่องดังกล่าวจึงเจือสมกับคำเบิกความของผู้เสียหาย เป็นการส่งเสริมให้คำเบิกความของผู้เสียหายมั่นคงหนักแน่นยิ่งขึ้น ส่วนที่จำเลยเบิกความถึงสาเหตุที่ร่วมเดินทางไปกับผู้เสียหายว่าผู้เสียหายโทรศัพท์มาขอให้จำเลยไปเป็นพยานเพราะไม่ไว้ใจนายบุญเลิศ ระหว่างทางผู้เสียหายบอกว่าจะนำเงิน 190,000 บาท ไปไถ่ถอนแล้วจะนำรถกระบะดังกล่าวไปจำนำที่ทุ่งค่าย (ตำบลทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง) เนื่องจากไปเอาเงินมาจากทุ่งค่าย หากไม่ไถ่ถอนในวันดังกล่าวนายบุญเลิศก็จะขายรถกระบะดังกล่าวไป จำเลยนั่งรออยู่ในรถกระบะเห็นผู้เสียหายมอบเงินให้นายบุญเลิศ 2 มัด ไม่ทราบว่าเป็นเงินเท่าใด หลังจากนั้นประมาณ 15 นาที มีผู้ขับรถกระบะดังกล่าวมาจอดในเต็นท์รถของนายบุญเลิศ ผู้เสียหายเดินไปที่รถดังกล่าว ตรวจสภาพอยู่ครู่หนึ่ง เข้าไปนั่งในรถกระบะดังกล่าวแล้วยกมือพร้อมกับพูดว่าผ่านแล้วบีบแตร 2 ครั้ง จำเลยเข้าใจว่าผู้เสียหายตรวจรถกระบะคันดังกล่าวเรียบร้อยแล้วจำเลยจึงขับรถกระบะของจำเลยจากไป ส่วนผู้เสียหายกลับรถที่บริเวณหน้าเต็นท์รถแล้วขับรถจากไปซึ่งเป็นคนละทางกับจำเลย ในข้อนี้จำเลยไม่ได้ให้การในชั้นสอบสวนซึ่งผิดปกติวิสัยขอสุจริตชนเมื่อถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดก็ต้องปฏิเสธและอธิบายเหตุผลที่สนับสนุนว่าตนไม่ได้กระทำความผิดในทันทีที่มีโอกาสจำเลยเพิ่งมาเบิกความยกข้อเท็จจริงขึ้นในชั้นพิจารณา ทั้งไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบสนับสนุนคำเบิกความของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ที่โจทก์ฎีกาว่าข้อมูลทะเบียนราษฎร ซึ่งมีรูปของจำเลยระบุวันจัดทำว่าวันที่ 10 มิถุนายน 2559ซึ่งเป็นวันก่อนที่ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ 5 วัน ไม่เป็นข้อแตกต่างที่เป็นพิรุธสงสัยและบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาที่กล่าวถึงหมายเลขทะเบียนรถกระบะ บน 7368 ตรัง มีลายมือชื่อของพนักงานสอบสวนลงกำกับไว้ไม่เป็นข้อพิรุธสงสัยเช่นกันนั้น เห็นว่าคดีนี้เป็นคดีความผิดอันยอมความกันได้ย่อมเป็นไปได้ที่ยังไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ทันทีที่ผู้เสียหายพบพนักงานสอบสวน เพราะอาจมีการทำให้คดีระงับลงด้วยการเจรจาหรือชดใช้ค่าเสียหายได้ ส่วนบันทึกกรแจ้งข้อกล่าวหา ในส่วนของทะเบียนรถกระบะมีการขีดฆ่าหมายเลขทะเบียนรถกระบะ 3 กณ 6479 กทม. ออกแล้วเขียนใหม่เป็นบน 7368 ตรัง ก็ตาม แต่ก็มีลายมือชื่อของพันตำรวจตรีโอภาศ พนักงานสอบสวนลงกำกับไว้ เป็นการแก้ไขโดยเปิดเผย เมื่อพิเคราะห์ประกอบบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ บันทึกคำให้การของพยานในชั้นสอบสวน และบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาต่างระบุหมายเลขทะเบียนรถกระบะไว้ว่า บน 7368 ตรัง โดยเฉพาะบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาจำเลยก็ลงลายมือชื่อไว้โดยมิได้โต้แย้งจึงเห็นได้ว่าเป็นการพิมพ์ผิดและจำเลยก็เข้าใจได้ดีว่ารถกระบะคันที่จำเลยถูกกล่าวหาว่ายักยอกไปคือรถกระบะหมายเลขทะเบียนรถกระบะ บน 7368 ตรัง ดังนั้น ข้อมูลทะเบียนราษฎร ระบุวันจัดทำก่อนที่ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ 5 วัน และบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาที่มีการแก้ไขตกเดิมหมายเลขทะเบียนรถกระบะต่างไม่เป็นข้อพิรุธสงสัย ที่โจทก์ฎีกาว่า คำเบิกความของผู้เสียหายที่เบิกความว่าเมื่อติดต่อจำเลยแล้วจำเลยบอกว่า จะหารถกระบะคันใหม่มาให้ แตกต่างกับที่ผู้เสียหายให้การต่อพนักงานสอบสวนในครั้งแรกว่า จำเลยบอกผู้เสียหายว่าจะพยายามติดตามรถกระบะที่ขายไปแล้วกลับมาให้ ให้การเพิ่มเติมว่าจำเลยจะหารถกระบะคันอื่นมาตอกเลขเครื่องยนต์และเลขแชสซีใหม่ให้ และแตกต่างกับคำเบิกความของนางสาวสายชลที่ว่า ผู้เสียหายบอกแก่นางสาวสายชลว่าจำเลยจะชดใช้เงินให้ 200,000 บาท ไม่ถือเป็นข้อพิรุธนั้น เห็นว่า แม้คำเบิกความของผู้เสียหายและนางสาวสายชลและคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนจะแตกต่างกันไปบ้าง แต่ตามรูปเรื่องเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายและจำเลยติดต่อและต่อรองกันจึงมีการยื่นข้อเสนอหลายรูปแบบ ส่วนนางสาวสายชลได้รับคำบอกเล่าจากผู้เสียหายซึ่งอาจได้รับคำบอกเล่ามาเพียงบางส่วน ความแตกต่างดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อสาระสำคัญจนถึงขนาดที่จะทำให้น้ำหนักพยานหลักฐานของโจทก์เสียไปกล่าวโดยสรุปพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยรับจำนำรถกระบะหมายเลขทะเบียน บน 7368 ตรัง ไว้จากผู้เสียหายแล้วจำเลยขายรถกระบะดังกล่าวให้แก่ผู้อื่นไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายจริง แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่าผู้เสียหายรวบรวมเงินได้ครบถ้วนพร้อมที่จะไถ่ถอนรถกระบะดังกล่าวจากจำเลยหลังจากพ้นเวลาที่จำเลยผ่อนผันให้แล้วก็ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 764 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อจะบังคับจำนำ ผู้รับจำนำดังบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น" วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้ แต่ต้องขายทอดตลาด" ดังนั้นการบังคับจำนำจะกระทำได้ด้วยการขายทอดตลาดเท่านั้นจึงไม่มีสิทธิที่จะขายรถกระบะดังกล่าวด้วยวิธีการอื่น การที่จำเลยขายรถกระบะดังกล่าวจึงเป็นการขายโดยไม่มีสิทธิ ถือว่าเป็นการกระทำโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

ดู 3,101 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

PDPA คือ อะไร

PDPA คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกสร้างมาเพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของทุกคน...

การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นกระบวนการชำระหนี้ที่มีสภาพบังคับแก่เจ้าหนี้ทุกรายของลูกหนี้ ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาในการที่เจ้าหนี้แต่รายจะแข...

การยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกนั้น วัตถุที่ยักย้ายหรือปิดบังต้องเป็นทรัพย์มรดกเท่านั้น

ทรัพย์มรดก คือทรัพย์สินทุกอย่างที่เป็นของผู้ตายและทรัพย์มรดกนี้ยังรวมไปถึงสิทธิและหน้าที่ และความรับผิดต่างๆของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะที่ต...

Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
bottom of page