top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนทนายเอ็ม

คนไร้ความสามารถ และคนเสมือนไร้ความสามารถ

1. คนไร้ความสามารถ

คนไร้ความสามารถ หมายถึง บุคคลที่หย่อนความสามารถเพราะเป็นคนวิกลจริต โดยอาการวิกลจริตนี้ต้องเป็นถึงขนาดที่ไม่สามารถจัดกิจการงานของตนเองได้เลย และอาการดังกล่าวต้องเป็นอยู่เป็นประจำ เมื่อผู้มีสิทธิร้องขอตามกฎหมายยื่นคำร้องต่อศาล ศาลอาจสั่งให้บุคคลดังกล่าวเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้ซึ่งจะเกิดผลในทางกฎหมายคือ คนไร้ความสามารถต้องอยู่ในความดูแลของบุคคลที่เรียกว่า “ผู้อนุบาล” และคนไร้ความสามารถไม่สามารถทำนิติกรรมต่างๆ ได้เอง การทำนิติกรรมของคนไร้ความสามารถจึงต้องให้ผู้อนุบาลเป็นผู้ทำแทนเท่านั้น นิติกรรมใด ๆ ที่คนไร้ความสามารถได้ทำลงไปนั้นเป็นโมฆียะ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 28 บัญญัติว่า “บุคคลวิกลจริตผู้ใด ถ้าคู่สมรสก็ดี ผู้บุพการี กล่าวคือ บิดามารดา ปู่ย่าตายาย ทวดก็ดี ผู้สืบสันดาน กล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อก็ดีผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ก็ดีผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือพนักงานอัยการก็ดี ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถศาลจะสั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้

บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาล การแต่งตั้งผู้อนุบาล อำนาจหน้าที่ของผู้อนุบาลและการสิ้นสุดของความเป็นผู้อนุบาล ให้เป็นไปตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้

คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

คนไร้ความสามารถตามกฎหมายถือว่าเป็นคนที่ไม่มีความรู้สึกผิดชอบ ไม่อาจทำกิจการตามที่ต้องการได้ ไม่สามารถใช้ความคิด ความเข้าใจในความหมายและผลแห่งการกระทำของตนได้ดี ไม่สามารถแสดงเจตนาได้โดยถูกต้อง จึงจำเป็นที่กฎหมายจะต้องคุ้มครองประโยชน์ของบุคคลเหล่านี้ด้วยการควบคุมดูแลความสามารถในการใช้สิทธิและการปฏิบัติหน้าที่ของตน โดยหลักเกณฑ์ที่ต้องมีผู้มาร้องขอต่อศาลให้ไต่สวนและมีคำสั่ง เมื่อศาลมีคำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว ก็จะจัดให้อยู่ในความคุ้มครองดูแลของบุคคลอีกคนหนึ่งที่เรียกว่า “ผู้อนุบาล”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4445/2563 ป.พ.พ. มาตรา 28 ได้ระบุตัวบุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถไว้แล้ว คือ คู่สมรส ผู้บุพการีกล่าวคือ บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด ผู้สืบสันดานกล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อ รวมทั้งผู้ปกครอง หรือผู้พิทักษ์ ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ หรือพนักงานอัยการ การที่ผู้คัดค้านเป็นบุตรของ ส. พี่น้องร่วมบิดามารดาของ ป. แม้ผู้คัดค้านจะเป็นหลาน ป. แต่มิใช่หลานที่สืบสายโลหิตโดยตรง จึงมิใช่ผู้สืบสันดานตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 28

ผู้คัดค้านเป็นหลานสาวที่มีความใกล้ชิดสนิทสนม และได้รับความไว้วางใจจาก ป. ให้เป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลจัดการในเรื่องความเป็นอยู่การรักษาพยาบาลและในด้านการเงินต่างๆ เพื่อประโยชน์ตามความประสงค์ของ ป. ตลอดมา กรณีถือได้ว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้ซึ่งปกครองดูแล ป. จึงเป็นบุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 28 ที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ ป. เป็นคนไร้ความสามารถ

ป. มีภาวะบกพร่องในเรื่องความจำ ความคิด การตัดสินใจ และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคคลวิกลจริตตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 28 แล้ว จึงมีเหตุสมควรสั่งให้ ป. เป็นคนไร้ความสามารถ

การตั้งผู้อนุบาลนั้นย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนไร้ความสามารถเป็นสำคัญ เมื่อ ป. ให้ความไว้วางใจผู้คัดค้านซึ่งเป็นหลานสาวที่เลี้ยงดูมาอย่างใกล้ชิดให้เป็นผู้จัดการดูแลเรื่องความเป็นอยู่ การรักษาพยาบาลและด้านการเงินโดยจัดการเรื่องค่ารักษาพยาบาลในขณะที่ ป. นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งเป็นไปตามความประสงค์ของ ป. ที่มอบหมายไว้แต่แรก ประกอบกับผู้คัดค้านมีหน้าที่การงานที่มั่นคงเป็นผู้จัดการธนาคารย่อมต้องทราบดีว่าการจัดการเรื่องการเงินของผู้อื่นต้องเป็นไปด้วยความชื่อสัตย์สุจริต รอบคอบ สามารถตรวจสอบได้ การเป็นผู้อนุบาลนอกจากมีสิทธิแล้วยังต้องมีหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้เมื่อผู้คัดค้านเป็นผู้ซึ่งปกครองดูแล ป. อันเป็นบุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 28 ผู้คัดค้านไม่เป็นบุคคลไร้ความสามารถ เสมือนไร้ความสามารถหรือบุคคลล้มละลาย เพื่อประโยชน์ของคนไร้ความสามารถ จึงเห็นสมควรตั้งผู้คัดค้านให้เป็นผู้อนุบาล

2. คนเสมือนไร้ความสามารถ

คนเสมือนไร้ความสามารถ หมายถึง บุคคลที่กายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเป็นอาจิณ หรือติดสุรายาเมา หรือมีเหตุอื่นทำนองเดียวกันนั้น จนไม่สามารถที่จะจัดกิจการงานของตนเองได้ หรืออาจจัดกิจการงานของตนเองไปในทางที่เสื่อมเสียต่อทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว เมื่อผู้มีสิทธิร้องขอตามกฎหมายยื่นคำร้องต่อศาล ศาลอาจสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ซึ่งจะเกิดผลในทางกฎหมายคือ คนเสมือนไร้ความสามารถต้องอยู่ในความดูแลของ “ผู้พิทักษ์” และการทำนิติกรรมบางชนิดต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะทำได้ หากทำนิติกรรมลงไปโดยไม่ได้รับความยินยอม นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 32 บัญญัติว่า “บุคคลใดมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดสุรายาเมา หรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น จนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว เมื่อบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 28 ร้องขอต่อศาลศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้

บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดให้อยู่ในความพิทักษ์ การแต่งตั้งผู้พิทักษ์ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติบรรพ 5แห่งประมวลกฎหมายนี้

ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการสิ้นสุดของความเป็นผู้ปกครองในบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้ มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของการเป็นผู้พิทักษ์โดยอนุโลม

คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 34 บัญญัติว่า “คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(1) นำทรัพย์สินไปลงทุน

(2) รับคืนทรัพย์สินที่ไปลงทุน ต้นเงินหรือทุนอย่างอื่น

(3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

(4) รับประกันโดยประการใด ๆ อันมีผลให้ตนต้องถูกบังคับชำระหนี้

(5) เช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าหกเดือนหรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าสามปี

(6) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูป เพื่อการกุศลการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

(7) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา

(8) ทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจะได้มาหรือปล่อยไปซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือในสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

(9) ก่อสร้างหรือดัดแปลงโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือซ่อมแซมอย่างใหญ่

(1O) เสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ เว้นแต่การร้องขอตามมาตรา35 หรือการร้องขอถอนผู้พิทักษ์

(11) ประนีประนอมยอมความ หรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

ถ้ามีกรณีอื่นใดนอกจากที่กล่าวในวรรคหนึ่งซึ่งคนเสมือนไร้ความสามารถอาจจัดการไปในทางเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัวในการสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือเมื่อผู้พิทักษ์ร้องขอในภายหลังศาลมีอำนาจสั่งให้คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะทำการนั้นได้

ในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวมาในวรรค 1 หรือวรรค 2 ได้ด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการนั้นแทนคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับผู้อนุบาลมาใช้บังคับแก่ผู้พิทักษ์โดยอนุโลม

คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การใดกระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12634/2558 ป.พ.พ. มาตรา 34 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คนเสมือนไร้ความสามารถนั้นต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

…ฯลฯ…

(4)รับประกันโดยประการใด ๆ อันมีผลให้ตนต้องถูกบังคับชำระหนี้

…ฯลฯ…

จากบทบัญญัติดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถนั้น มีความสามารถที่จะทำนิติกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในมาตรา 34 วรรคหนึ่ง ได้เอง โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์แต่ประการใด โดยจัดว่าเป็นผู้หย่อนความสามารถเฉพาะการทำนิติกรรมต่าง ๆ ซึ่งระบุไว้เท่านั้นที่จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะมีความสามารถทำได้ ส่วนมาตรา 34 วรรคสาม บัญญัติว่า "ในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างในที่กล่าวมาในวรรคหนึ่งหรือวรรคสองได้ด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการนั้นแทนคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับผู้อนุบาลมาใช้บังคับแก่ผู้พิทักษ์โดยอนุโลม" ตามบทบัญญัติในวรรคสามนี้หมายถึงกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดใน (1) ถึง (11) หรือวรรคสองด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้พิทักษ์ ได้ทำนิติกรรมการจำนองที่ดินพิพาทและการโอนที่ดินพิพาทชำระหนี้จำนองซึ่งเป็นนิติกรรมดังได้ระบุไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 34 (4) โดยได้รับความยินยอมของจำเลยที่ 1ผู้พิทักษ์แล้ว จึงเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 34 วรรคหนึ่งแล้ว นิติกรรมดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

ดู 402 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

PDPA คือ อะไร

PDPA คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกสร้างมาเพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของทุกคน...

การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นกระบวนการชำระหนี้ที่มีสภาพบังคับแก่เจ้าหนี้ทุกรายของลูกหนี้ ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาในการที่เจ้าหนี้แต่รายจะแข...

การยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกนั้น วัตถุที่ยักย้ายหรือปิดบังต้องเป็นทรัพย์มรดกเท่านั้น

ทรัพย์มรดก คือทรัพย์สินทุกอย่างที่เป็นของผู้ตายและทรัพย์มรดกนี้ยังรวมไปถึงสิทธิและหน้าที่ และความรับผิดต่างๆของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะที่ต...

Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
bottom of page