top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนทนายเอ็ม

วิธีจัดการสินสมรส ไม่ให้ขัดแย้งกัน

เมื่อชายและหญิงแต่งงานและจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ย่อมก่อให้เกิดความผูกพันเป็นครอบครัวที่จะต้องดูแลเลี้ยงดูกัน การจัดการทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ที่เรียกกันว่า “สินสมรส” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่คู่สมรสได้มา ระหว่างสมรส

(2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรม หรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรม หรือ หนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส

(3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว


กฎหมายจึงเปิดโอกาสให้คู่สมรสสามารถตกลงรูปแบบ วิธีการ เงื่อนไข และข้อจำกัดเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรสที่แตกต่างไปจากที่กฎหมายกำหนดได้ตามที่คู่สมรสเห็นสมควร เพื่อให้คู่สมรสสามารถกำหนดสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบการจัดการทรัพย์สิน และข้อตกลงอื่นๆ เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินหากการสมรสสิ้นสุดลง รวมถึงการกำหนดการใช้เงินระหว่างคู่สมรสด้วย โดยระหว่างการเจรจาเงื่อนไขและข้อกำหนดในสัญญาก่อนสมรส แต่ละฝ่ายควรปรึกษาทนายความ เพื่อขอคำแนะนำและให้สัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย หากไม่ได้ทำสัญญาตกลงกันเรื่องจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสแล้ว เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง แต่ละฝ่ายจะมีสิทธิจัดการทรัพย์สินเฉพาะสินส่วนตัวเท่านั้น ส่วนสินสมรสต้องจัดการร่วมกันและแบ่งให้แต่ละฝ่ายเท่า ๆ กัน


ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 กำหนดวิธีจัดการสินสมรสไว้ 8 เรื่อง ที่คู่สมรสสามารถจัดการสินสมรสร่วมกันได้

1. การจัดการเกี่ยวกับทรัพย์ = ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ต้องได้รับการยินยอมร่วมกัน

2. การจัดการทรัพยสิทธิ = ได้แก่ ภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

3. ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี = ต้องไปจัดการร่วมกัน หากฝ่าฝืนสามีหรือภริยาที่ไม่ให้ความยินยอมมีสิทธิฟ้องเพิกถอนได้

4. ให้กู้ยืมเงิน = กรณีให้กู้ต้องยินยอมร่วมกัน แต่กรณีไปกู้ไม่ต้องยินยอมร่วมกัน ถือเป็นหนี้ส่วนตัว

5. การให้โดยเสน่หา = หากเป็นทรัพย์สินจำนวนมาก ต้องได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่าย ยกเว้น การให้ที่พอสมควรตามฐานะ เพื่อการกุศลเพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

6. ประนีประนอมยอมความ = ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เป็นสินสมรส ต้องได้รับความยินยอมร่วมกัน

7. มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย = หากจะมอบข้อพิพาทเกี่ยวกับสินสมรสให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยต้องยินยอมร่วมกัน

8. เอาสินสมรสไปเป็นหลักประกัน = ยกเว้นในกรณีใช้ตำแหน่งส่วนตัวไม่ต้องยินยอมจากคู่สมรส


การจัดการสินสมรสนอกจากที่ได้กล่าวมานี้ สามีหรือภริยาสามารถจัดการได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง สามารถทำได้โดยลำพังตนเอง เช่น ถ้าเป็นเรื่องการให้เช่า อสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เกิน 3 ปี หรือการไปทำสัญญาค้ำประกัน การเช่าซื้อสังหาริมทรัพย์เครื่องใช้ส่วนตัว เป็นต้น


แต่ถ้าฝ่ายสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปจัดการสินสมรสที่กฎหมายบังคับให้ต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส อีกฝ่ายก่อนโดยไปทำนิติกรรมแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจะเห็นได้ว่าเกิดความไม่เป็นธรรมต่อคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่ได้รู้เห็นด้วย และต้องมารับผิดชอบร่วมกัน


กฎหมายจึงมีทางออกแก่คู่สมรสฝ่ายที่ไม่ได้รู้เห็นด้วย ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 โดยฝ่ายนั้นมีสิทธิที่จะฟ้องร้องต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้เหตุ แต่ไม่ให้ฟ้องถ้าเกิน 10 ปีแล้ว ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน

การจัดการสินสมรสมีผลผูกพันเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือหนี้สินระหว่างคู่สัญญา 2 ฝ่าย ทั้งคู่สัญญาฝ่ายชายและคู่สัญญาฝ่ายหญิง ต้องทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนหรือทำสัญญาพร้อมกับการจดทะเบียนสมรสกับนายทะเบียน และลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายและต้องมีพยานลงนามในสัญญาอย่างน้อย 2 คน ซึ่งจะถือเป็นสัญญาสลักหลังทะเบียนสมรสของคู่สมรส หากต้องการแก้ไขหรือเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสหลังจากได้จดทะเบียนสมรสจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น หากทำสัญญาดังกล่าวภายหลังการจดทะเบียนสมรส ตามกฎหมายจะถือว่าเป็นสัญญาระหว่างสมรส ซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถบอกล้างสัญญาเมื่อใดก็ได้ถ้ายังเป็นสามีภรรยากันอยู่หรือบอกล้างภายใน 1 ปี นับแต่วันสิ้นสุดการเป็นสามีภรรยากัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8146/2560 ป.พ.พ.มาตรา 1474 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน (1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส...และวรรคสองบัญญัติว่า ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส เมื่อที่ดินพิพาท 4 แปลง ได้มาระหว่างสมรสแม้จะมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวก็เป็นสินสมรสตามบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยกล่าวอ้างว่า ที่ดินพิพาท 4 แปลง ไม่ใช่สินสมรส จำเลยมีภาระการพิสูจน์ทั้งนี้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 84/1 ประกอบมาตรา พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวาชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 6

จำเลยประกอบอาชีพหมอนวดและมีรายได้ เงินที่ได้มาก็เป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ.มาตรา 1474 วรรคหนึ่ง (1) เมื่อนำไปซื้อที่ดินพิพาท 4 แปลง ที่ดินพิพาทย่อมเป็นสินสมรส


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1379/2563 โจทก์กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนการหย่ากันแล้ว การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ย่อมสิ้นสุดลงไม่จำต้องพิจารณาถึงเหตุหย่าตามฟ้องอีกต่อไป

จำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทมาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่ากัน การสมรสเป็นอันสิ้นสุดลง ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533 บัญญัติว่า เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากันจำเลยที่ 1 จึงต้องแบ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทอันเป็นสินสมรสให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง โดยให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงแบ่งกันเองก่อน เมื่อไม่สามารถแบ่งได้ให้ประมูลราคาระหว่างกันเอง ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาด ได้เงินสุทธิเท่าใดให้แบ่งกันคนละครึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6286/2562 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 บัญญัติว่า "การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน" ตามบทบัญญัติดังกล่าว คำว่าโดยสุจริตมีความหมายว่า ขณะที่ทำนิติกรรมบุคคลภายนอกไม่อาจทราบว่าเป็นการทำนิติกรรมผูกพันสินสมรสที่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง

ขณะทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3 นั้น จำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าเป็นสินสมรสและโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมในการทำนิติกรรม คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นการทำนิติกรรมโดยสุจริต

ดู 214 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

PDPA คือ อะไร

PDPA คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกสร้างมาเพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของทุกคน...

การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นกระบวนการชำระหนี้ที่มีสภาพบังคับแก่เจ้าหนี้ทุกรายของลูกหนี้ ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาในการที่เจ้าหนี้แต่รายจะแข...

การยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกนั้น วัตถุที่ยักย้ายหรือปิดบังต้องเป็นทรัพย์มรดกเท่านั้น

ทรัพย์มรดก คือทรัพย์สินทุกอย่างที่เป็นของผู้ตายและทรัพย์มรดกนี้ยังรวมไปถึงสิทธิและหน้าที่ และความรับผิดต่างๆของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะที่ต...

Opmerkingen

Beoordeeld met 0 uit 5 sterren.
Nog geen beoordelingen

Voeg een beoordeling toe
bottom of page